ประวัติเสาชิงช้า

ความเป็นมาของเสาชิงช้า

ตามประเพณีบ้านเมืองที่ถือปฏิบัติมาแต่ครั้งโบราณกาล เมื่อการสร้างพระนครแห่งใหม่สำเร็จลุล่วงจะมีการประกอบพิธีพราหมณ์ที่สำคัญพิธีหนึ่ง คือ พิธียืนชิงช้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีตรียัมปวายและตรีปวาย เพื่อทดสอบความมั่นคงของราชธานีเป็นกุศโลบายที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เพื่อให้พระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศาณุวงศ์ ขุนนาง คหบดี สมณชีพราหมณ์ และอาณาประชาราษฏร์น้อมระลึกถึงความไม่ประมาท

หลังการสถาปนาราชธานีไม่นาน ได้มีการสร้างศาสนสถานที่สำคัญอันประดิษฐานเทวรูปพระอิศวร พระพิฆเนศ และพระนารายณ์ รวมเรียกว่า “เทวสถาน” หรือเรียกสามัญว่า “โบสถ์พราหมณ์” ในพุทธศักราช ๒๓๒๗ ในคราวเดียวกันนี้พราหมณ์ชาวสุโขทัยชื่อพระครูสิทธิชัย (กระต่าย) ตำแหน่งพราหมณ์พฤฒิบาศ หรือที่ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์เรียกว่า “หลวงสิทธิไชยพระหมอเฒ่า” ซึ่งเป็นที่เคารพของพราหมณ์แต่ครั้งกรุงเก่า ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งเสาชิงช้าขึ้นตรงบริเวณที่ถือเป็นใจกลางพระนคร เพื่อประกอบพิธีตรียัมปวายและตรีปวายตามธรรมเนียมการสร้างพระนครแต่โบราณ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสาชิงช้าพร้อมกับสถาปนาเทวสถาน สำหรับพระนคร เมื่อวันพุธเดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๔๖ ตรงกับวันที่ ๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๗ ในครั้งนั้นเสาชิงช้ามีขนาดย่อมกว่าในปัจจุบัน มีเพียงเสาหลัก ๒ ต้น ไม่มีเสาตะเกียบ ส่วนเครื่องยอดของเสาชิงช้าน่าจะมีรูปแบบเช่นเดียวกับที่ปรากฏในปัจจุบัน มีฐานปัทม์เป็นสี่เหลี่ยมดังภาพลายเส้นที่วาดโดยชาวต่างชาติที่เข้ามาในกรุงเทพฯ สมัยช่วงรัชกาลที่ ๓ และภาพจิตรกรรมฝาผนังพระวิหารวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

เมื่อสร้างเสาชิงช้าและเทวสถานแล้วเสร็จ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีต้อนรับพระอิศวรและพระนารายณ์ที่จะเสด็จลงมาเยี่ยมโลกมนุษย์ในเดือนยี่ของทุกปี อันถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของศาสนาพราหมณ์ และในระหว่างที่เสด็จอยู่ในโลกนี้ พราหมณ์จึงทำพิธีต้อนรับที่เรียกว่าพระราชพิธีตรียัมปวายและตรีปวาย มีการจัดงานรับรองพระผู้เป็นเจ้าอย่างสนุกสนาน  ในสมัยโบราณการพระราชพิธีตรียัมปวายจะมีขั้นตอนสำคัญที่เรียกว่า “พิธียืนชิงช้า” ปัจจุบันได้ยกเลิกเปลี่ยนเป็นพิธีเจิมเสาชิงช้าแทน เป็นการแสดงตำนานเรื่อง “พระเจ้าสร้างโลก” ซึ่งมีอยู่ว่า เมื่อพระพรหมธาดาได้สร้างโลกสำเร็จลุล่วง ทรงขอให้พระอิศวรไปรักษา แต่พระอิศวรทรงห่วงใยว่าโลกนี้ดูไม่น่าจะแข็งแรง เพื่อความไม่ประมาทจึงเสด็จลงมายังโลกเพียงพระบาทข้างเดียว เพราะเกรงว่าถ้าลงมาทั้งสองข้างโลกจะแตก จึงทรงให้พญานาคอันทรงฤทธิ์มาโล้ยื้อยุดระหว่างขุนเขาสองฝั่งมหาสมุทร ปรากฏว่าแผ่นดินของโลกยังแข็งแรงดีอยู่ พญานาคทั้งหลายก็โสมนัสเป็นยิ่งนัก ลงสู่สาครเล่นน้ำและเฉลิมฉลอง เสาชิงช้า ทั้งคู่เปรียบได้กับขุนเขาทั้งสองฝั่งมหาสมุทร ส่วนขันสาครเปรียบได้กับมหานทีอันกว้างใหญ่ ซึ่งพญานาคพากันเล่นน้ำ รำเขนงสาดน้ำกันในตอนท้าย ผู้ที่ขึ้นโล้ชิงช้านี้เรียกว่า นาลิวัน หมายถึง พญานาค และผู้แสดงก็สวมหัวนาคด้วย (ไม่ใช่พราหมณ์ขึ้นไปโล้) มีความหมายแสดงให้รู้ตำนานและอีกนัยหนึ่งมีความหมายเป็นกุศโลบายที่จะทรงสื่อสารกับชาวพระนครว่ากรุงรัตนโกสินทร์ที่ทรงสถาปนาขึ้นนี้มีความแข็งแกร่ง มั่นคง ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพระนครแห่งนี้จะมีชีวิตที่เป็นสุขร่มเย็นสืบไปนานเท่านาน

ที่มา: จดหมายเหตุการณ์บูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า พุทธศักราช ๒๕๔๙. (๒๕๔๙) ). กรุงเทพมหานคร: สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ที่มา: เทวสถาน มรดกวัฒนธรรมบนแผ่นดินไทย หนังสือที่ระลึกโครงการบูรณปฏิสังขรณ์เทวสถาน สำหรับพระนคร. (๒๕๕๖). กรุงเทพมหานคร: สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์