ประวัติเทวสถาน สำหรับพระนคร

ประวัติเทวสถาน สำหรับพระนคร

เทวสถาน

เทวสถาน ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๒๖๘ ถนนบ้านดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๒๐๐

ประวัติ

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๗ มีโบสถ์อยู่ ๓ หลัง ก่ออิฐถือปูนมีกำแพงล้อมรอบ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสาชิงช้าขึ้น เมื่อวันพุธ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๓๒๙ ทรงสร้างเทวสถานและเสาชิงช้าขึ้นตามประเพณีพระนครโบราณ

เทวสถาน

หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “โบสถ์พราหมณ์” (ด้วยเป็นเทวสถานที่มีพราหมณ์เป็นผู้ดูแลและพระราชพิธีสำคัญสำหรับพระนคร)

ภายในเทวสถานมีโบสถ์อยู่ ๓ หลัง คือ

๑) สถานพระอิศวร (โบสถ์ใหญ่) ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนไม่มีพาไล โบสถ์หลังนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าหลังอื่นทุกหลัง หลังคาทำชั้นลด ๑ ชั้น หน้าบันด้านหน้ามีเทวรูปปูนปั้นนูน รูปพระอิศวร พระอุมา และเครื่องมงคลรูปสังข์ กลศ กุมภ์ อยู่ในวิมาน ใต้รูปวิมานมีปูนปั้นเป็นรูปเมฆและโคนันทิ หน้าบันด้านหลังไม่มีลวดลาย ภายในเทวสถานมีเทวรูปพระอิศวรทำด้วยสำริด ประทับยืนขนาด ๑.๘๗ เมตร ปางประทานพร โดยยกพระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้าง และยังมีเทวรูปขนาดกลางอีก ๓๑ องค์ ประดิษฐานในเบญจา (ชุกชี) ถัดไปด้านหลังเบญจา มีเทวรูป ศิวลึงค์ ๒ องค์ ทำด้วยหินสีดำ ด้านหน้าเบญจามีชั้นลด ประดิษฐานเทวรูปพระพรหม ๓ องค์ พระราชครูวามเทพมุนีเป็นผู้สร้าง เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๔ พระสรัสวดี ๑ องค์ (พระนางสรัสวดี นี้ นายลัลลาล ประสาททวยาส ชาวอินเดียเป็นผู้ถวาย เมื่อประมาณ ๒๐ ปี มานี้) สองข้างแท่นลด มีเทวรูปพระอิศวรทรงโคนันทิและพระอุมาทรงโคนันทิ เป็นศิลปะปูนปั้นโบราณมีมาแล้วก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ ตรงกลางโบสถ์มีเสาลักษณะคล้ายเสาชิงช้า ๒ ต้น สูง ๒.๕๐ เมตร สำหรับประกอบพิธีช้าหงส์ในพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือนยี่ (พระอิศวร พระนางอุมา พระคเณศ) วันแรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ (พระนารายณ์) และวันแรม ๓ ค่ำ เดือนยี่ (พระพรหม) พิธีช้าหงส์ในวันแรม ๑ ค่ำ และวันแรม ๕ ค่ำ เดือนนั้น เป็นพิธีที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ส่วนในวันแรม ๓ ค่ำ เป็นพิธีที่เพิ่งจัดให้มีขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน ภายหลังจากที่พระราชครูวามเทพมุนี ได้จัดสร้างเทวรูปพระพรหมถวายเนื่องในมหามงคลสมัยวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบ พระนักษัตร

 

โบสถ์พระอิศวร

๒) สถานพระพิฆเนศวร (โบสถ์กลาง) สร้างด้วยอิฐถือปูน มีพาไลทั้งด้านหน้าและด้านหลัง การก่อสร้างยังคงศิลปะอยุธยาที่สร้างโบสถ์ที่มีพาไล ตัวโบสถ์ไม่มีลวดลาย หลังคามีชั้นลด ๑ ชั้น หน้าบันเรียบ ไม่มีรูปเทวรูปปูนปั้นเหมือนสถานพระอิศวร ภายในโบสถ์มีเทวรูปพระพิฆเนศวร ๕ องค์ ล้วนทำด้วยหิน คือ หินเกรนิต ๑ องค์ หินทราย ๑ องค์ หินเขียว ๒ องค์ ทำด้วยสำริด ๑ องค์ ประดิษฐานบนเบญจา ประทับนั่งทุกองค์ องค์หนึ่งมีขนาดสูง ๑.๐๖ เมตร เป็นประธาน ประดิษฐานอยู่ข้างหน้า องค์บริวารอีก ๔ องค์ ขนาดสูง ๐.๙๕ เมตร


โบสถ์พระคเณศวร

๓) สถานพระนารายณ์ (โบสถ์ริม) สร้างด้วยอิฐถือปูน มีพาไลทั้งด้านหน้าและด้านหลัง การก่อสร้างทำเช่นเดียวกับสถานพระพิฆเนศวร ภายในทำชั้นยกตั้งบุษบก ๓ หลัง หลังกลางประดิษฐานพระนารายณ์ ทำด้วยปูน ประทับยืน ๒ องค์นี้เป็นองค์จำลองของเดิมไว้ (ของเดิมได้ย้ายไปอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ ในสมัยน้ำท่วมพุทธศักราช ๒๔๘๕) ตรงกลางโบสถ์มีเสาลักษณะคล้ายเสาชิงช้าขนาดย่อม สำหรับประกอบพิธีช้าหงส์ สูง ๒.๕๐ เมตร เรียกว่า “เสาหงส์”


โบสถ์พระนารายณ์

บริเวณลานเทวสถาน ด้านหน้าประตูทางเข้ามีเทวาลัยขนาดเล็ก ประดิษฐานพระพรหมตั้งอยู่กลางบ่อน้ำ สร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช ๒๕๑๕ สมัยพระราชครูวามเทพมุนี

เทวสถาน ได้ขึ้นทะเบียนเป็น “โบราณวัตถุสถาน” สำคัญของชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๖ ตอนที่ ๖๔ วันที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๒ หน้า ๕๒๘๑ ลำดับ ๑๑ ระบุว่า เทวสถาน เป็น “โบราณวัตถุสถาน” สำคัญของชาติ ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๒

เสาชิงช้า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโบสถ์พราหมณ์ หรือ หน้าวัดสุทัศน์เทพวนาราม แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร

ประวัติ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นตรงหน้าเทวสถาน เมื่อวันพุธ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๓๒๗ ต่อมาสร้างโรงก๊าด (โรงเก็บน้ำมันก๊าด) ขึ้น ณ ที่นั่น จึงย้ายเสาชิงช้ามา ณ ที่ตั้งปัจจุบัน การสร้างเสาชิงช้าขึ้นก็เพื่อจะรักษาธรรมเนียมการสร้างพระนครตามอย่างโบราณไว้ โดยถือคติว่าจะให้พระนครมีความมั่นคงแข็งแรง กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๖ ตอนที่ ๖๔ วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๒ ลำดับที่ ๑๐ เป็น “โบราณวัตถุสถาน” สำคัญของชาติประกาศ ณ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๒

การปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า ได้รับการปฏิสังขรณ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๓ มีคำจารึกติดไว้เสาชิงช้า ดังนี้

“ไม้เสาชิงช้าคู่นี้กับทั้งเสาตะเกียบและทับหลัง เมื่อถึงคราวเปลี่ยนเสาเก่า บริษัท หลุยตีลี โอโนเวนส์ จำกัด ซึ่งทำการค้าไม่ได้ให้สร้างขึ้นใหม่นี้เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ นายหลุยโทมัส เลียวโอเวนส์ ซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปแล้วนั้น อันเป็นผู้ที่ได้เข้าตั้งเคหะสถานอยู่ในประเทศสยามกว่า ๕๐ ปี เสาชิงช้านี้ได้สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๓”

พุทธศักราช ๒๕๐๒ กระจังที่เป็นลวดลายผลุง ได้เปลี่ยนใหม่และทาสี
พุทธศักราช ๒๕๑๓ สภาพของเสาชิงช้าชำรุดทรุดโทรมมาก ต้องเปลี่ยนเสาใหม่เพื่อให้มั่นคงแข็งแรง การปรับปรุงบูรณะได้พยายามรักษาลักษณะเดิมไว้ทุกประการ งานแล้วเสร็จและได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๕

“เสาชิงช้ามีความสูงจากฐานกลมถึงยอดลายกระจังไม้ประมาณ ๒๑ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางฐานกลมประมาณ ๑๐.๕๐ เมตร ฐานกลมก่อเป็นฐานปัทม์ทำด้วยหินล้างสีขาว พื้นปูกระเบื้องดินเผาสีแดง มีบันได ๒ ชั้น ทั้ง ๒ ด้าน ที่ถนนบำรุงเมืองตัดผ่านตามแนวโค้งของฐานติดแผ่นจารึกเสาชิงช้า เสาชิงช้าแกนกลางคู่และเสาตะเกียบ ๒ คู่ เป็นเสาหัวเม็ดล้วนทำด้วยไม้สักกลึงกลม กระจังและหูช้างไม้เป็นลวดลายไทย ติดสายล่อฟ้าจากลวดลายกระจังด้านบนลงดิน”

เทวรูปต่าง ๆ ที่ประดิษฐานในเทวสถานนั้น สันนิษฐานว่าจะชะลอมาจากที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์เทวรูปที่เป็นประธานในแต่ละโบสถ์นั้น จะเป็นเทวรูปที่ได้จากสุโขทัย ด้วยเทียบเคียงศิลปะในสมัยนั้นกับเทวรูปที่มีอยู่มีลักษณะคล้ายกันมาก

“….พระโองการรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางพระนคร ให้สูงเท่าพนังเชิง ให้พระพิเรน ณ เท ขึ้นไปรับพระใหญ่ ณ เมืองโศกโขทัย ชะลอเลื่อนลงมากรุง ประทับสมโภช ๗ วัน

วัดสุทัศน์นี้กำหนดว่าเป็นกึ่งกลางพระนคร จึงตั้งเทวสถานมีเสาชิงช้าลง ณ ที่นั้นตามประเพณีพระนครโบราณ ข้อซึ่งว่าพระราชประสงค์จะทำให้สูงเท่าวัดพนังเชิงนั้นก็ชอบกล เพราะถมพื้นสูงขึ้นไปมากในพระนครที่เป็นที่ลุ่ม……” ในใจความที่ได้จากหมาย ”…..ฉบับหนึ่งด้วยพระยาอภัยรณฤทธิ รับสั่งใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสั่งว่า พระฤกษ์จะขุดรากพระอุโบสถ วัดทำใหม่ ณ เสาชิงช้า พระราชาคณะ ๒๐ รูป จะได้สวดพระพุทธมนต์ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีเถาะ นพศก (จุลศักราช ๑๑๖๘) เพลาบ่าย….”

“…….เชิญพระศรีศากยมุนีมากรุงเทพฯ”

จุลศักราช ๑๑๗๐ ปีมะโรง สัมฤทธิศก เป็นปีที่ ๒๗ ในรัชกาลที่ ๑ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นพระประธานในวิหารหลวงวัดมหาธาตุลงมาจากเมืองสุโขทัย หน้าตัก ๓ วาคืบ สมโภชที่หน้าตำหนักแพ ๓ วัน ครั้น ณ เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เชิญพระขึ้นจากแพทางประตูท่าช้างไปทำร่มไว้ข้างถนนเสาชิงช้า ประตูนั้นก็เรียกว่า ประตูท่าพระ มาจนถึงทุกวันนี้ เหตุว่าต้องรื้อประตูจึงเชิญเข้าไปได้ พระพุทธรูปองค์นี้ภายหลังได้ถวายนามว่า พระศรีศากยมุนี…….”

จากข้อความที่ยกมานี้พอจะทำให้ทราบได้ว่า เมื่อพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงชะลอพระพุทธรูปมาจากสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช ๒๓๕๑ นั้น ทรงมีการเตรียมการไว้ก่อนแล้ว โดยให้สร้างวัดขึ้นกำหนดกลางพระนคร คือ บริเวณใกล้เสาชิงช้าและเทวสถาน แสดงว่าขณะนั้นมีเทวสถานและเสาชิงช้าอยู่ก่อนแล้วเป็นมั่นคง จากการสันนิษฐานตามหลักฐานดังกล่าว คงจะเสด็จไปสุโขทัยหลายครั้ง จึงได้ชะลอพระศรีศากยมุนีลงมา และ
พอจะอนุมานได้อีกว่า เทวรูปที่เทวสถานคงจะได้มาจากสุโขทัยเช่นเดียวกัน แม้จะเป็นเวลาห่างกันถึง ๒๔ ปีก็ตาม ด้วยเทวสถานได้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๗

ตามคติโบราณในการสร้างพระนครใหม่นั้น ให้สร้างเทวสถานและเสาชิงช้า เพื่อบูชาพระศิวะ ผู้ทรงประทานพร พระนารายณ์ผู้ทรงรักษา พระพรหมผู้สร้าง เมื่อจัดตั้งเทวสถานแล้วก็เป็นสถานที่จะกราบไหว้เทพเจ้าสำคัญ และการสร้างเสาชิงช้าก็เป็นคติในการทำให้บ้านเมืองแข็งแรง พิธีที่ทำให้ประเทศชาติมั่นคงตามลัทธินั้น คือ พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย ซึ่งจะทำพิธีโล้ชิงช้าแสดงตำนานเทพเจ้าตอนสร้างโลก เมื่อได้ทำพิธีนี้แล้วถือว่าการสร้างพระนคร ได้สำเร็จลงโดยสมบูรณ์ เมื่อสร้างพระนครเรียบร้อยแล้ว จึงได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต่อไป

(จาก ประวัติเทวสถาน – พระราชครูวามเทพมุนี , ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๒)

ประวัติหอเวทวิทยาคม

pic_his04

หอเวทวิทยาคม เป็นหอสำหรับพราหมณ์ประกอบพิธีตามลัทธิไสยศาสตร์ ซึ่งมีกล่าวในพงศาวดาร รัชกาลที่ ๑ เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๗ (พ.ศ. ๒๓๒๘) เป็นปีที่สร้างพระนครและพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่ สมควรจะทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้เต็มแบบโบราณราชประเพณี จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้นที่พระที่นั่งอมรินทราภิเษก (ปัจจุบันคือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท) และให้ตั้งโรงพิธีพราหมณ์หน้าพระที่นั่ง (ปัจจุบันคือบริเวณด้านหลังตึกที่ทำการส่วนหนึ่งของสำนักราชเลขาธิการ ตอนมุมกำแพงแถวตะวันออก มุมทิศเหนือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท) ใช้เป็นที่ประกอบพิธีตามลัทธิ เรียกกันว่า หอพราหมณ์ มีชื่อเป็นทางการว่า หอเวทวิทยาคม

pic_his07

ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๒ – ๒๕๑๓ ได้มีการรื้ออาคารบริเวณนั้นเพื่อสร้างตึกที่ทำการสำนักพระราชวังและสำนักราชเลขาธิการ จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตรื้อหอเวทวิทยาคม ใช้เป็นลานทางเข้าออกตรงมุมของอาคารที่สร้างขึ้นใหม่นั้น เมื่อรื้อหอเวทวิทยาคมแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระราชครูวามเทพมุนี (สมจิตต์ รังสิพราหมณกุล) หัวหน้าพราหมณ์นำไปใช้เป็นนามหอเวทวิทยาคม ที่จะสร้างในบริเวณเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๔ แต่การสร้างยังไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะพระราชครูวามเทพมุนีผู้ริเริ่มได้ถึงแก่กรรม

ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ ๖๐ พรรษา รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณมาดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ โดยอนุมัติให้ดำเนินการเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามประสงค์เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้เปิดใช้เป็นทางการเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๒ เวลา ๑๖.๐๐ น.

หอเวทวิทยาคม เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ จัดเป็นห้องสมุดเฉพาะกิจ เก็บรวมรวมสรรพวิชาการต่าง ๆ หนักไปทางวรรณคดี พิธีกรรม ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี ด้วยไมโครฟิล์ม สไลด์ และยังเป็นที่ประกอบพิธีกรรรมทางศาสนา บำเพ็ญกุศล แสดงพระธรรมเทศนา ปาฐกถา อภิปรายสนทนา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันและกันตามโอกาสอันควร เพื่อให้หอเวทวิทยาคมเป็นศูนย์ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และรวบรวมสรรพวิทยาการด้านประเพณีและพิธีกรรมแห่งหนึ่งในประเทศไทย