พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พืชพันธุ์ธัญญาหารซึ่งมีอยู่อุดมสมบูรณ์ทุกฤดูกาลบนผืนแผ่นดินไทย นอกจากเป็นผลผลิตจากความพากเพียรของเกษตรกร นับแต่โบราณกาลแล้วพระมหากษัตริย์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีพิธีพราหมณ์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์และการเกษตรกรรม บำรุงขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรกระดูกสันหลังของชาติ เป็นประจำทุกปี

เมื่อจะเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกในเดือนหก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีพราหมณ์ขึ้น เรียกว่า “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” หรือ “พระราชพิธีแรกนา” เพื่อขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์

ความมุ่งหมายสำคัญอันเป็นมูลเหตุให้เกิดพระราชพิธีนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ความตอนหนี่งว่า “…การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีน สี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงลงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามที่มีปรากฎอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเป็นนิจไม่มีเวลาว่างเว้น ด้วยการซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง…”

ในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พราหมณ์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในพระราชพิธีทุกขั้นตอน ตั้งแต่การตั้งโรงพิธีประดิษฐานเทวรูปสำคัญ เช่น พระอิศวร พระพรหมธาดา พระนารายณ์ ฯลฯ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง การหลั่งน้ำสังข์ที่มือและให้ใบมะตูมแก่พระยาแรกนาและเทพีทั้ง ๔ เพื่อความเป็นสิริมงคล พระยาแรกนาบูชาเทวรูปแล้วตั้งสัตยาธิษฐาน เสี่ยงทายผ้า ๓ ผืน ว่าน้ำในปีนั้นจะมากหรือน้อย และขั้นตอนที่สำคัญที่สุดเมื่อถืงเวลามงคลอุดมฤกษ์ โหรหลวงลั่นฆ้องชัย พราหมณ์เชิญเทวรูปเดินนำหน้าพระโค ตามด้วยพระยาแรกนาเดินไถดะโดยรี ๓ รอบ โดยขวาง ๓ รอบ พร้อมทั้งหว่านธัญพืชจากกระบุงเงิน กระบุงทองของเทพีทั้ง ๔ เดินกลับไปที่โรงพิธีพราหมณ์ เจ้าพนักงานปลดพระโคออกจากแอก พราหมณ์จัดวางอาหารเสี่ยงทาย ๗ สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำ หญ้า เมื่อพระโคกินสิ่งใด โหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์ เป็นอันเสร็จพิธี

การประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้กระทำเต็มรูปแบบครั้งสุดท้ายเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๓ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นใหม่ ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชประเพณีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและกำลังใจของเกษตรกร  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัย และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานเป็นประจำทุกปี

ที่มา: เทวสถาน มรดกวัฒนธรรมบนแผ่นดินไทย หนังสือที่ระลึกโครงการบูรณปฏิสังขรณ์เทวสถาน สำหรับพระนคร. (๒๕๕๖). กรุงเทพมหานคร: สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พืชพันธุ์ธัญญาหารซึ่งมีอยู่อุดมสมบูรณ์ทุกฤดูกาลบนผืนแผ่นดินไทย นอกจากเป็นผลผลิตจากความพากเพียรของเกษตรกร นับแต่โบราณกาลแล้วพระมหากษัตริย์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีพิธีพราหมณ์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์และการเกษตรกรรม บำรุงขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรกระดูกสันหลังของชาติ เป็นประจำทุกปี

เมื่อจะเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกในเดือนหก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีพราหมณ์ขึ้น เรียกว่า “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” หรือ “พระราชพิธีแรกนา” เพื่อขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์

ความมุ่งหมายสำคัญอันเป็นมูลเหตุให้เกิดพระราชพิธีนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ความตอนหนี่งว่า “…การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีน สี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงลงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามที่มีปรากฎอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเป็นนิจไม่มีเวลาว่างเว้น ด้วยการซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง…”

ในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พราหมณ์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในพระราชพิธีทุกขั้นตอน ตั้งแต่การตั้งโรงพิธีประดิษฐานเทวรูปสำคัญ เช่น พระอิศวร พระพรหมธาดา พระนารายณ์ ฯลฯ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง การหลั่งน้ำสังข์ที่มือและให้ใบมะตูมแก่พระยาแรกนาและเทพีทั้ง ๔ เพื่อความเป็นสิริมงคล พระยาแรกนาบูชาเทวรูปแล้วตั้งสัตยาธิษฐาน เสี่ยงทายผ้า ๓ ผืน ว่าน้ำในปีนั้นจะมากหรือน้อย และขั้นตอนที่สำคัญที่สุดเมื่อถืงเวลามงคลอุดมฤกษ์ โหรหลวงลั่นฆ้องชัย พราหมณ์เชิญเทวรูปเดินนำหน้าพระโค ตามด้วยพระยาแรกนาเดินไถดะโดยรี ๓ รอบ โดยขวาง ๓ รอบ พร้อมทั้งหว่านธัญพืชจากกระบุงเงิน กระบุงทองของเทพีทั้ง ๔ เดินกลับไปที่โรงพิธีพราหมณ์ เจ้าพนักงานปลดพระโคออกจากแอก พราหมณ์จัดวางอาหารเสี่ยงทาย ๗ สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำ หญ้า เมื่อพระโคกินสิ่งใด โหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์ เป็นอันเสร็จพิธี

การประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้กระทำเต็มรูปแบบครั้งสุดท้ายเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๓ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นใหม่ ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชประเพณีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและกำลังใจของเกษตรกร  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัย และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานเป็นประจำทุกปี

ที่มา: เทวสถาน มรดกวัฒนธรรมบนแผ่นดินไทย หนังสือที่ระลึกโครงการบูรณปฏิสังขรณ์เทวสถาน สำหรับพระนคร. (๒๕๕๖). กรุงเทพมหานคร: สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์