ประวัติศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู

กำเนิดของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู

               ศาสนาพราหมณ์ หรือที่เรียกเป็นสากลว่า “ศาสนาฮินดู” ได้ถือกำเนิดขึ้น ณ ดินแดนชมพูทวีป เมื่อกว่า ๓,๐๐๐ ปี โดยเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการผสานวัฒนธรรมและคติความเชื่อซึ่งคล้ายคลึงกันของขาวอารยันและชาวดราวิเวียนเข้าด้วยกัน ทั้งเรื่องการนับถือวิญญาณบรรพบุรุษ การสวดอ้อนวอน และการบวงสรวงหมู่เทพผู้อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เพื่ออำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ไร้อุปสรรคในการดำเนินชีวิตที่ผูกพันอยู่กับการเกษตรกรรม  ในห้วงเวลานี้ มีการจัดหมวดหมู่เทพประจำธรรมชาติออกเป็น ๓ พวกเพื่อการทำบัตรพลีบูชา พวกที่หนึ่งอยู่ในสวรรค์ พวกที่สองอยู่ในฟ้า (อากาศ) และพวกที่สามอยู่ในพื้นโลก

               ใน ยุคพระเวท เมื่อราว ๑,๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาล เป็นยุคที่ศาสนาพราหมณ์ได้พัฒนาพิธีกรรมและความเชื่อเรื่องพระผู้เป็นเจ้าให้เป็นระเบียบแบบแผนยิ่งขึ้น ได้พัฒนาความเชื่อเรื่องพระผู้เป็นเจ้าหลายองค์ หรือพหุเทวนิยม (Polytheism) ไปสู่ความเชื่อเรื่องพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวหรือ เอกเทวนิยม (Monotheism) ในยุคนี้ ได้เกิดความคิดเรื่อง เอกํ สตฺ คือ ความคิดที่ว่า สิ่งจริงแท้มีอยู่เพียงหนึ่งเดียว หากแต่ปรากฏให้เห็นเป็นเทพหลายองค์ผู้อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ

               ต่อมาใน สมัยอุปนิษัท เป็นช่วงสุดท้ายของยุคพระเวทเป็นสมัยที่เริ่มมีการคิดคาดคะเน (Speculation) ทางด้านปรัชญา เกิดข้อถกเถียงในวงกว้างว่า สิ่งที่มีอยู่จริงๆ คืออะไร เกิดความคิดว่าสิ่งจริงแท้ที่มีอยู่เพียงหนึ่งนั้น คือ พฺรหฺมนฺ (อ่านว่า บฺระ-หฺมัน = พรหม ที่ไม่มีเพศ) บางทีก็เรียกว่า อาตมัน หรือ อาตมา บางครั้งก็เรียกว่า สตฺ (สัด = สิ่งที่มีอยู่) พรหม เท่านั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริง (พฺรหฺม สตฺยํ) ส่วนโลกไม่มีอยู่จริง (ชคนฺมิถฺยา) เป็นเพียงการเห็นด้วยอำนาจแห่งมายา โดย พรหม นั้นมีอยู่ ๒ ระดับ เมื่อมองถึงแก่นแท้รู้ซึ้งถึงความมีอยู่อย่างเป็นมายาของโลก พรหมจะเป็นสิ่งเดียวกับอาตมันที่อยู่ในสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นความรู้บริสุทธิ์ ที่เรียกว่า ชญาน (ชฺญาน) เป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริงในรูปของสัตยะ (สตฺย) เป็นสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่า อนันตะ (อนนฺต) ไม่มีตัวตน เป็นวิญญาณที่อยู่ในทุกสรรพสิ่ง เป็นนิตย์ และเป็นนิรันดร คือ ไม่มีเบื้องต้นและเบื้องปลาย  ถ้ามองในระดับสายตาของชาวโลกธรรมดา ซึ่งมองเห็นว่าโลกเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง จะมองเห็นพรหมเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่มีคุณสมบัติ ผู้สรรค์สร้างสรรพสิ่ง และกำหนดชะตากรรมของมนุษย์ ซึ่งแบ่งภาคออกเป็นรูป ๓ หรือพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด ๓ พระองค์ ได้แก่

  • พระพรหมธาดา (Brahma) เทพผู้นฤมิตสรรพสิ่ง (สฤษฺฏิ)
  • พระศิวะ (Shiva) หรือ พระอิศวร เทพผู้ทำลายและทำให้อุบัติใหม่ (ประลัย)
  • พระวิษณุ (Vishnu) หรือ พระนารายณ์ เทพผู้ปกปักรักษา (สฺถิติ)

               รวมเรียกว่า ตรีมูรติ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิญญาณอมตะ หรือ ปรมาตมัน นอกจากนี้ ศาสนาพราหมณ์ยังให้ความเคารพนับถือเหล่าทวยเทพ เทวา และเทวี ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับปรมาตมันอีกหลายพระองค์

               พลังศรัทธาที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า ก่อให้เกิดการพัฒนาศาสนาพราหมณ์อย่างเป็นแบบแผน คือ เริ่มมีการรจนาและรวบรวมบทสวดอ้อนวอนเทพเจ้าที่ชาวอารยันและชาวพื้นเมืองเคารพนับถือจากปราชญ์ผู้รู้ทางศาสนา ออกเป็นหมวดหมู่ โดยให้ชื่อว่า พระเวท โดยคัมภีร์พระเวทแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน

               ส่วนแรกได้แก่ บทสวดขับร้อง มนตร์ หรือคาถา ใช้ในพิธีบูชายัญที่เรียกว่า สํหิตา หรือ มนตร ซึ่งได้แยกย่อยออกไปเป็นความรู้อันดับรองลงมาที่เรียกว่า คัมภีร์จตุรเวท หรือ พระเวททั้ง ๔ อันได้แก่

  • ฤคเวท (Rigveda) ว่าด้วยบทสดุดีพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดในจำนวนพระเวททั้ง ๔
  • ยชุรเวท (Yajurveda) ว่าด้วยสูตรสำหรับการใช้ในพิธีบูชายัญ ซึ่งแยกย่อยออกเป็นอีก ๒ แขนง คือ กฤษณยชุรเวท (ฝ่ายดำ) และศุกลยชุรเวท (ฝ่ายขาว)
  • สามเวท (Samaveda) ว่าด้วยบทสวดขับร้อง
  • อาถรรพเวท (Atharavaveda) ว่าด้วยมนตร์หรือคาถาต่างๆ
               ส่วนที่สอง เรียกว่า พราหมณะ ว่าด้วยการอธิบายรายละเอียดการจัดศาสนพิธี ซึ่งสามารถแยกย่อยออกเป็น ๒ แขนง คือ อรัณยกะ หมายถึง บทเรียนของผู้อยู่ป่า มีเนื้อหาเกี่ยวกับคำสอน การดำเนินชีวิตของพราหมณ์ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งออกไปอยู่ป่า บำเพ็ญเพียรเพื่อเข้าถึงโมกษะ และ อุปนิษัท ซึ่งแปลว่า เข้าไปนั่งลง เป็นคำสอนที่ว่าด้วยหลักหรือคำสอนเกี่ยวกับปรมาตมัน และหนทางที่อาตมันจะกลับคืนสู่ปรมาตมัน

พราหมณ์ผู้เผยแผ่พระเวทและหนทางสู่นิรวาณ

               ผู้ที่จะสามารถศึกษาร่ำเรียนพระเวทและถ่ายทอดโองการได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่เกิดในวรรณะพราหมณ์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นวรรณะที่ถือกำเนิดขึ้นจากพระโอษฐ์ (ปาก) ของปุรุษะ (พรหมัน) เป็นผู้มีความรู้คัมภีร์พระเวทและมีหน้าที่สั่งสอนพระเวท สัจธรรมความรู้สูงสุดอันเป็นแก่นแท้ของศาสนา

               ในสังคมอินเดีย นอกจากพราหมณ์แล้วคนในวรรณะอื่นจะทำพิธีกรรมบูชาพระผู้เป็นเจ้าด้วยตนเองไม่ได้ ต้องมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีให้เสมอ จึงเกิดตำแหน่ง พราหมณ์ปุโรหิต เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารกับพระผู้เป็นเจ้าด้วยการประกอบพิธีบวงสรวงบูชายัญ อ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าให้บันดาลความสุขความสำเร็จให้แก่มนุษย์ได้ ด้วยเหตุนี้ วรรณะพราหมณ์จึงถือเป็นวรรณะที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างใกล้ชิด กล่าวคือ เป็นผู้เชื่อมโยงความคิดในคัมภีร์พระเวทและวิถีปฏิบัติตามความเชื่อของศาสนาเข้าด้วยกัน ประพฤติปฏิบัติธรรม ประกอบพิธีกรรม และสาธยายเรื่องราวหรือสรรเสริญสดุดีพระผู้เป็นเจ้า สั่งสอนศาสนิกชนให้เข้าถึงความสุขตามวรรณะของตน และหนทางแห่งความหลุดพ้นจากกองทุกข์ กองกิเลส การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ (saṃsāravaṭṭa)  การกลับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับปรมาตมัน หนทางหรือความเป็นไปเช่นนี้เรียกว่า โมกฺษคติ พรหมมารฺค หรือ นิรวาณ


พราหมณ์จากชมพูทวีปสู่สยามประเทศ

               ศาสนาพราหมณ์ได้ประดิษฐาน ณ ดินแดนซึ่งเป็นประเทศไทยในปัจจุบันครั้งแรกเมื่อใดยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด สันนิษฐานว่านับแต่พุทธศตวรรษที่ ๒ – ๓ เป็นต้นมา มีพราหมณ์ทั้งลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย เดินทางเข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิหลายเส้นทาง สายหนึ่งพราหมณ์จากอินเดียตอนใต้ได้เดินทางมาพร้อมกับกองเรือสินค้า เข้ามาตั้งถิ่นฐานและสถาปนาลัทธิไศวนิกายในอาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) อีกสายหนึ่ง ยังได้เดินทางเข้ามาตั้งรกรากในอาณาจักรฟูนัน ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๙ ซึ่งเป็นรากฐานของศาสนาพราหมณ์ในราชสำนักอาณาจักรพระนคร (ขอม) ส่งผลให้อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์สายนี้ ได้แพร่หลายทั่วไปในบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

               ศาสนาพราหมณ์เริ่มประดิษฐานมั่นคงในสมัยสุโขทัย พระมหากษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัยเอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงศาสนาพราหมณ์ควบคู่ไปกับพระพุทธศาสนา ดังมีหลักฐานว่าพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ทรงแต่งตั้งพราหมณ์ให้มีตำแหน่งเป็นพระศรีมโหสถ พระมหาราชครูปุโรหิต เพื่อถวายความรู้ คำปรึกษาข้อราชการต่างๆ และประกอบพิธีกรรมตามพระเวท และยังปรากฏพิธีพราหมณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ให้แก่ ชาวเมือง พราหมณ์ จึงเป็นบุคคลที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างยิ่งในกรุงสุโขทัย

ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ลัทธิ ความเชื่อ และประเพณีพราหมณ์ได้มีบทบาทในราชสำนักไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการรับแนวคิด “เทวราชา” ของศาสนาพราหมณ์มาจากอาณาจักรกัมพูชาที่ว่า พระมหากษัตริย์เปรียบประดุจดังอวตารแห่งพระผู้เป็นเจ้า ลงมายังโลกมนุษย์เพื่อดับทุกข์เข็ญ ปกครองอาณาประชาราษฎร์และสมณชีพราหมณ์ให้ร่มเย็นโดยธรรม และแผ่กฤษฎาภินิหารไปทั่วทั้งทศทิศ ด้วยเหตุนี้ ในจารึกพระปรมาภิไธยหรือพระราชกำหนดกฎหมายเก่า พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาจึงออกพระนาม “รามาธิบดี” เช่นเดียวกับ “พระราม” พระเจ้าจักรพรรดิราช อวตารของพระผู้เป็นเจ้า ในกฎหมายตราสามดวง ยังมีการระบุถึงหน้าที่และกรมกองของพราหมณ์ในราชสำนักหลายฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายโหรดาจารย์ ฝ่ายปุโรหิต ฝ่ายศาล ฝ่ายพิธี และฝ่ายพฤฒิมาศ ซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติงานด้านพระราชพิธีทั้งปวงและรักษาไว้ซึ่งกฎมณเฑียรบาล โดยในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นยุครุ่งเรืองของพราหมณ์ราชสำนัก ด้วยพระมหากษัตริย์ทรงเลื่อมใสและศรัทธาในศาสนาพราหมณ์ดังปรากฏหลักฐานว่า ได้ทรงให้หล่อเทวรูปสวมทองคำและเครื่องอาภรณ์ลงยาราชาวดีประดับแหวน ไว้สำหรับตั้งในพระราชพิธีถึง ๔ พระองค์ และในพระราชพิธีตรียัมปวาย ได้เสด็จฯ เป็นประธานในพิธีและร่วมส่งพระผู้เป็นเจ้าทุกปีมิได้ขาด  ไม่เพียงเท่านั้น วรรณคดีสำคัญหลายเรื่องซึ่งมีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องว่ามีความงดงามทางวรรณศิลป์ ล้วนแต่งโดยพราหมณ์คนสำคัญในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์แต่งโดยพระมหาราชครู หนังสือจินดามณีแต่งโดยพระโหราธิบดี และฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างแต่งโดยขุนเทพกระวี เป็นต้น

               ในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ได้สืบทอดขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา ลัทธิ ความเชื่อ และประเพณีพราหมณ์ ยังคงบทบาทสำคัญต่อบ้านเมือง ช่วยเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้แก่อาณาประชาราษฎร์ โดยในพุทธศักราช ๒๓๑๐ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชและสถาปนากรุงธนบุรีขึ้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งพราหมณาจารย์รับราชการในราชสำนัก เพื่อประกอบพระราชพิธีตามโบราณราชประเพณี            ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ มีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะทำนุบำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรมตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม จึงมีพระบรมราชโองการให้รวบรวมตำราเกี่ยวกับพิธีการต่างๆ ของพราหมณ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพราหมณ์ที่หลบลี้หนีภัยสงครามจากทั่วทุกสารทิศ เช่น นครศรีธรรมราช พัทลุง มาเป็นพราหมณ์ประจำราชสำนักพระราชวังหลวงและพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เพื่อประกอบพระราชพิธีและพิธีสำคัญของบ้านเมือง

ที่มา: เทวสถาน มรดกวัฒนธรรมบนแผ่นดินไทย หนังสือที่ระลึกโครงการบูรณปฏิสังขรณ์เทวสถาน สำหรับพระนคร. (๒๕๕๖). กรุงเทพมหานคร: สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์