นางพระธรณีไม่ค่อยจะมีเรื่องปรากฎเหมือนเทพองค์อื่นๆก็จริง แต่ประวัติก็ดูสับสนอย่างเช่นในที่บางแห่งว่านางธรณีมีโอรสกับพระนารายณ์องค์หนึ่งคือพระอังคาร แต่ในพจนานุกรมของเดาสันกล่าวว่า พระอังคารเป็นโอรสของพระศิวะกับนางธรณี(ดูประวัติพระอังคาร) ในหนังสือวรรณคดีไทยของนายหรีด เรืองฤทธิ์ ได้บรรยายถึงลักษณะของนางไว้ว่า นางพระธรณีมีผิวพระกายดำ แต่พระรูปสวยสดงดงามไม่แพ้นางฟ้าที่ลือกันว่าสวย ดวงพระพักตร์เป็นรูปไข่ มวยพระเกศาเขียวชอุ่มเหมือนกลุ่มเมฆ พระเนตรสีเหมือนบัวสายสีน้ำเงิน พระอุระ(อก)ใหญ่ พระกายอ่อน บั้นพระองค์(เอว)เล็ก พระโสณี(ตะโพก)ผึ่งผาย พระเพลา(ลำขา)โตตึง พระชงฆ์(น่อง)เรียว พระพาหา(ลำแขน)เหมือนงวงไอยรา(ช้าง) พระองคุลี(นิ้ว)เรียวเหมือนลำเทียนที่ฟันดีแล้ว และอวัยวะนอกนั้นงามล้วนแต่ต้องตาเทพเจ้าทั้งสิ้น นางมีพระทัยเยือกเย็นไม่หวั่นไหว พระพักตร์มีเค้ายิ้มอยู่เสมอเหมือนหญิงสาวที่ได้สามีใหม่ๆนางรักความสงบ ชอบอยู่เงียบๆจึงไม่ใคร่มีเรื่องราวอะไรในโลก เฝ้าแต่เลี้ยงโลกเหมือนแม่เลี้ยงโลก คอยรับน้ำที่เขาตรวจเมื่อทำบุญไว้ในมวยพระเกศาสีคราม ความจริงนางเป็นอรูปกะ(ไม่มีตัว) แต่เมื่อมีเหตุการณ์สลักสำคัญเกิดขึ้นในโลกจึงจะปรากฎเป็นรูปกะ(มีตัว) ขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง

ความเชื่อถือเกี่ยวกับพระธรณีของไทยไม่ค่อยแพร่หลายเท่าใดนัก มีกล่าวถึงในพิธีรีตองต่างๆน้อยมาก เท่าที่นึกได้ก็มีพวกจับช้างกล่าวถึงในพิธีก่อนไปจับช้างบ้างเช่นกล่าวว่า “โอมเผนิกเบิกแนกแยกพะกำกวมงวมพระธรณี ทางเส้นนี้ก็เคยล่วงปล่องทางนี้กูเคยเที่ยวโอมสวาหะโตนะโมตัสสะ” และ “นางพระธรณีเจ้าเอ่ย อยู่แล้วหรือยัง สังขาตังวินาศสันติ” ดังนี้เป็นต้น แต่ในอินเดียดูจะเคารพนับถือนางพระธรณีกันมากถึงจะไม่ค่อยมีรูปเคารพแพร่หลายก็จริง แต่เขาก็ถือว่านางพระธรณีอยู่ตามที่ต่างๆทุกหนทุกแห่ง เมื่อจะสังเวยหรือสักการบูชาก็วางข้าวหรือผลไม้ลงบนก้อนหิน หรือพรมน้ำนมวัวลงบนพื้นดิน มีธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่ปฏิบัติกันเป็นประเพณีก็คือ เมื่อวัวหรือควายมีลูกก่อนที่จะให้ลูกได้กินนม เขาก็จะให้แม่วัวปล่อยน้ำนมลงบนพื้นดินเสียก่อนทุกครั้งไป ความเชื่อถือเกี่ยวกับแม่ธรณีหรือพื้นดินมีกันแปลกๆ ถ้าเป็นพวกชาวนาก็ขอให้นางพระธรณีช่วยคุ้มครองชาวนาและวัวควาย บางแห่งใช้เหล้าสังเวยก็มี

ในพระเวทมีกล่าวถึงนางพระธรณีได้รับการขอร้องไห้พิทักษ์คุ้มครองวิญญาณของคนตาย และต่อมาได้นับถือเป็นเทพแห่งไร่นาด้วย ที่แปลกก็คือว่าเป็นชายาของเทพแห่งฝน ดูก็เกี่ยวเนื่องกันชอบกล เพราะไร่นากับฝนต้องสัมพัน์กัน ในปัญจาบเชื่อกันว่านางพระธรณีจะนอนหลับเป็นเวลา1สัปดาห์ทุกๆเดือน ชาวไร่ชาวนาจะหยุดไม่ทำงานในระยะนี้

รูปนางพระธรณีไม่ปรากฎแพร่หลายนัก และที่พบมักจะเป็นรูปนางพระธรณีบิดมวยผมเป็นส่วนมากในหนังสือประติมากรรมของ โดย ศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ทรงกล่าวไว้ว่า “รูปแม่พระธรณีบิดมวยผมในภายปางมารวิชัย ซึ่งมีความสำคัญอยู่มาก ในรูปภาพทางพุทธศาสนาในปัจจุบัน ในภาคเอเชียคาคเนย์ ก็ดูเหมือนได้ปรากฎขึ้นที่ประเทศกัมพูชาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่17 เช่นที่ปราสาทบึงมาลา ปราสาทตาพรหมในบริเวณเมืองพระนครและปราสาทตาพรหมที่แคว้นบาตี” ส่วนของไทยนั้น นอกจากตามภาพผนังโบสถ์ดังกล่าวแล้วก็ปรากฎว่าในสมัยโบราณใช้เป็นตราตำแหน่งคือคลังวิเสท พระยาราชประสิทธิ์ ตรารูปพระธรณีบิดผมขวา คลังในขวาซ้าย พระราชไชสวริยานุรักษบดีตรารูปพระธรณีบิดผมซ้าย (“เล่าเรื่องตราต่างๆ โดยโสมทัต เทเวศร์)