ในการทำพิธีมงคลต่าง ๆ จะต้องบูชาพระคเณศก่อนเทวดาองค์อื่น ๆ อย่างน้อยที่สุดก็กล่าวนมัสการพระคเณศด้วยพระคาถาว่า “ศรีคเณศาย นมะ (อ่านว่า ฉฺรี กะ เณ ฉา ยะ นะ มะ หะ)“ หรือ “ศรี คณปตเย นมะ (อ่านว่า ฉฺรี-กะ-ณะ-ปะ-ตะ-เย-นะ-มะ-หะ)” ก็ได้ ซึ่งถือว่าเป็นการบูชาพระคเณศแล้ว

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไม่ว่านิกายใดก็ตามเคารพนับถือบูชาพระคเณศทั้งสิ้น มีน้อยคนที่จะเข้าใจถึงความหมายอันลึกซึ้งของการบูชานั้น นามว่า “คเณศ” นี้มีมาก่อนสมัยพระศิวะจะทรงอภิเษกกับพระนางอุมา ดังมีโศลกในฤคเวทกล่าวถึง คณปติ หรือ พฺรหฺมณสฺปติ (พระ-หมะ-นัส-ปะ-ติ) ว่าดังนี้

1คณานำ ตฺวา คณปตึ หฺวามเห
กวึ กวีนามุปมศฺรวสฺตมฺ -
เชฺยษฺฐราชํ พฺรหฺมณำ พฺรหฺมณสฺปต
อา นะ ศฺฤณฺวนฺนูติภิะ สีท สาทฺธมฺ

พฺรหฺมณสฺ แปลว่า แห่งวาจา หรือ วาณี ปติ แปลว่า เจ้า พฺรหฺมณสฺปติ จึงแปลว่า เจ้าแห่งวาจา

เอษ เอว อุเอว พฤหสฺปติรฺ วาคฺไว
พฺฤหตี ตสฺยา เอษ ปติสฺ ตสฺมาทฺ พฺฤหสฺติยะ
เอษ อุเอว พรหมณัสปติ ร วาคไว พรหม

พระคเณศเป็นราชาของทุกสิ่งทุกอย่าง จึงมีพระคาถาในพระเวทมีชื่อของพระคเณศว่า อธิปติ กรานตะประรติ ภัสดา เฉกทราช ในพระเวทมีคาถาหนึ่งว่า “ด้วยอาศัยคำเชิญของพวกเรา ท่านคเณศ ขอจงได้เสด็จมาคุ้มครองรักษาศักดิ คือพลังอารักขา เสด็จมาอยู่รอบ ๆ เรา หรือ รอบ ๆ เคหสถานบ้านเรือนเรา” มีคณปติสูตร คือ การช่วยของพระคเณศ ในนั้น กล่าวว่าพระคเณศเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านมีหลายชื่อ คณปติ มหาหัสตี เอกทันตะ วักตระตุนฑะ ทันตี เช่น โศลกใน กฤษณะยชุรเวท ไมตรายิณีสังหิตา

เอกทนฺตาย วิฆนเห วกฺรตุณฺฑาย ธีมหิ
ตนฺ โน ทนฺตี ปฺรโจทยาตฺ
ในคาถานี้มีคำว่า “เอกทนฺตาย วกฺรตุณฺฑ และ ทนฺตี

ถ้าเอาคาถาของพระเวทมาพิเคราะห์ดู คณปติ แปลว่า เจ้าแห่ง คณะ คณ แปลว่า กลุ่ม หรือ สมุห ส่วน ปติ แปลว่า เจ้า เมื่อรวมความแล้ว หมายถึง เจ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ซึ่งในจักรวาลมีของเพียงสองอย่างนี้เท่านั้น โศลกในมุทคล (มุด-คะ-ละ)ปุราณะ กล่าวไว้ว่า

มโนวาณีมยํ สรฺวํ ทฺฤศฺยาทฺฤศฺย สฺวรูปกํ
คการาตฺมกเมวํ ตตฺ ตตฺร พฺรหฺม คการกะ I
มโนวาณีวิหีนํ จ สมฺโภคาโยคสํสฺถิตํ
ณาการาตฺมกรูปํ ตตฺ ณการสฺ ตตฺร สํสฺถิตะ ||

แปลว่า คเณศ เป็นเจ้าเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง คณะปติ มีอาการหรือ ลักษณะของร่างกาย ดังนี้ คือพระพักตร์เป็นช้าง เรียกว่า คชานนะ(คช+อานน) คชเสยะ สินธุรานณะ พระพักต์เป็นช้าง แต่ร่างกายเป็นมนุษย์ นี้เป็นความลึกลับของปรมาตมันอย่างหนึ่ง คช แปลว่าช้าง มีอักษร ๒ ตัว คือ ค และ ช ในพระเวทอักษรแต่ละอักษรมีความหมาย ค มีความหมายว่า สมาธินา โยคิโน ยตฺร คจฺฉนฺตีติ หมายถึงพวกโยคีต่าง ๆ ทำสมาธิเพื่อได้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิ่งนั้นคือ ค สำหรับ ช อธิบายว่า ยสฺมาทฺ พิมฺพปฺรติพิมฺพตยา ปฺรณวาตฺมกํ ชคชฺ ชายเต อิติ ช หมายถึง โลกต่าง ๆ นี้ เกิดจากสิ่งใดสิ่งนั้นคือ ช ดังนั้น คช จึงหมายถึง ปรมาตมัน (ดวงวิญญาณโลก)

ตามความคิดในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จักรวาลเกิดจากพระปรมาตมัน คช (คะชะ) แปลว่า ปรมาตมัน พักตร์ หรือ ศีรษะ เป็นราชาของร่างกายในร่างมนุษย์ การที่มีมีพักตร์เป็นช้าง แสดงถึงว่า ถ้าเราต้องการความสุขนิรันดร จะต้องขจัดกิเลสให้ได้ เพราะฉะนั้นรูปของพระคเณศแสดงเป็นนัยๆให้เห็นว่า เราจะแสวงหาสิ่งที่หลุดพ้นได้อย่างไร พระคเณศมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า เอกทันตะ หมายถึงมีงาเดียว คือมีข้างขวาข้างเดียว ข้างซ้ายนั้นหัก ในมุทคลปุราณะ เขียนไว้ว่า 

เอกศพฺทาตฺมิกา มายา ตสฺยาะ สรฺวํ สมุทฺภวํ
ภฺรานฺติทํ โมหทํ ปูรฺณำ นานาเขลาตฺมกํ กิล |
ทนฺตะ สตตาธรสฺตตฺร มายา จาลก อุจฺยเต
พิมฺเพน โมหยุกฺตศฺจ สฺวยํ สวานนฺทโค ภเวตฺ ||
มายา ภฺรานฺติมตี โปฺรกฺตา สตฺตาจาลก อุจฺยเต |
โยรฺ โยเค คเณโศ’ ยเมกทนฺตะ ปฺรกีรฺติตะ ||

เอก นั้น หมายถึง มายา คือ วัตถุในรูปต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในโลก ทันตะ แปลว่า เจตนา ที่เป็นตัวควบคุมมายา คือ วัตถุต่าง ๆ ได้ คือ จิตใจ กล่าวในเชิงปรัชญา ก็คือ ปรมาตมัน ผู้อื่นไม่สามารถควบคุมมายาได้ด้วยเหตุนี้คเณศ ที่ชื่อ เอกทันตา นั้น ก็คือ ปรมาตมัน

หน้าที่ : 1 | 2 | 3