ท้าวกุเวรนี้มีนามอันมาก ใน รามเกียรติ์ เรียกว่า ท้าวกุเปรัน แต่ที่พวกเราเคยรู้จักอยู่จนชินนั้น เรียกว่าท้าวเวสสุวัณ (สันสกฤต – ไวศฺรวณ มคธ – เวสฺสวณ) ใน ไตรเพท ว่าเป็นอธิบดีของพวกอสูรและรากษสตลอดจนพวก ภูตผี เหตุนี้กระมังพวกเราจึงมักเขียนรูปท้าวเวสสุวัณแขวนไว้ที่เปลเด็ก ว่ากันว่าสำหรับกันผีปีศาจ โดยถือว่าถ้า  พวกผีได้เห็นนายของมันจะได้กลัวไม่กล้ารังควานเด็ก เป็นทำนองเขียนเสือไว้หลอกวัวกระมัง
     
ท้าวกุเวร นี้นัยว่าเป็นยักษ์ที่ดำรงอยู่ในสัตยธรรม สมมติกันว่าเป็นโอรสพระวิศรวัสมุนีกับนางอิฑวิฑา แต่ในมหาภารตะว่าเป็นโอรสพระปุลัสตยะซึ่งเป็นบิดาของพระวิศรวัส เพราะเหตุที่วิศรวัสเกิดแต่ปุลัสตยะ จึงได้นามอีกว่าเปาลัสตยะ ซึ่งใน รามเกียรติ์ ของเราเรียกว่า ลัสเตียน แล้วท้าวลัสเตียนจึ่งมาได้กับนางนิกษา บุตรีท้าวสุมาลีรากษส เป็นชายา เกิดโอรสด้วยกัน คือ ราพณาสูร (ทศกัณฐ์) กุมภกรรม วิภีษณ์ (พิเภก) และนางศูรปนขา เหตุนี้ ท้าวกุเวรกับพวกทศกัณฐ์จึงนับว่าเป็นลูกร่วมบิดาเดียวกัน


เดิมทีท้าวกุเวรได้เป็นเจ้านครลงกา ภายหลังถูกทศกัณฐ์น้องชายแย่ง พระพรหมาจึงสร้างเมืองให้ใหม่ ชื่อว่า อลกา หรือประภา บางทีเรียกวสุธรา หรือ วสุสถลี อยู่ ณ เขาหิมาลัย บางแห่งว่าอยู่เขามันทรคีรี บางทีก็ว่าอยู ณ เขาพระสุเมรุในป่าชัฏ ชื่อโชตวรรฐ บางทีว่าอยู่เขาไกลาส ใน เทวภูมิ ว่าพวกจัตุโลกบาลอยู่สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา

ท้าวกุเวรได้รับพรจากพระพรหมาให้เป็นอมฤต (ไม่ตาย) และเป็นโลกบาลรักษาทิศอุดร ท้าวกุเวรนี้มีนาม
ี้ที่เรียกกัน อยู่หลายอย่าง เช่น เรียกว่า ธนบดี (เป็นใหญ่ในทรัพย์) ธเนศวร (เจ้าแห่งทรัพย์ – บางทีจะตรงกบปู่โสมของเรากระมัง) อิจฉาวสุ (มั่งมีได้ตามใจ) ยักษราช (ขุนแห่งยักษ์) มยุราช (ขุนแห่งกินนร) รากษเสนทร์ (เป็นใหญ่ในพวกรากษส) เปาลัสตยะ (ลูกปุลัสตยะ) เป็นต้น


รูปของท้าวกุเวรเป็นคนมีกายพิการ ถือคทา หน้าเป็นยักษ์ มีขาสามขา บางแห่งว่าขาพิการ มีฟันแปดซี่  สีกายขาว มีอาภรณ์ทรงมงกุฎอย่างงาม รูปเขียนเมื่อนั่งบนบุษบกมีสี่กร และมีม้าสีขาวเป็นพาหนะอีกด้วยมเหสีชื่อจารวี หรืฤทธี (บุตรีมยุราสูร) มีโอรสสอง ชื่อมณีครีพ หรือวรรณกวี ๑ นลกุพร หรือมยุราช ๑ กับมีธิดาหนึ่ง ชื่อมีนากษี (ตกปลา) ใน รามเกียรติ์ ว่า ท้าวกุเวรเป็นบิดาคันธมาทน์ นายทหารของพระรามมีสวนชื่อเจตรรถ หรือมนธร และมีบุษบก เมื่อขึ้นขี่แล้วก็ลอยไปได้ตามปรารถนา รถทรงคันนี้ได้ถูกทศกัณฐ์น้องชายแย่งเอาไปไว้ในนครลงกาเสียมีเรื่องราวพิสดารอยู่ใน รามเกียรติ์ แล้วท้าวกุเวรยังมีสมญาตามเรื่องราวและคุณสมบัติของเธออีกหลายชื่อ เช่น กุตนุ (มีรูปร่างน่าเกลียด) รัตนครรภ (มีเพชรเต็มพุง) ราชราช (เจ้าแห่งราชา) นรราช (เจ้าคน) และในฐานะที่เป็นพระสหายสนิทของพระศิวะก็ได้นามว่า อีศสขิ ฯลฯ