อย่างไรก็ตามเมื่อมนุษย์สำเร็จโมกษธรรมแล้ว ยังไม่ควรจะละเลิกอรรถะกับกามะเสียโดยสิ้นเชิง เพราะถ้าหากมนุษย์ทั้งปวงมิได้คิดถึงอรรถคติกับกามคติเลย มนุษย์เราก็คงจะต้องถึงแก่กาลสูญพันธุ์ หรือมิได้มีการวิวัฒน์พัฒนาทั้งในทางสังคม ทางความเจริญ ทรัพย์สมบัติ ทางโลกและทางประเทศชาติ ตลอดจนแม้กระทั้งทางเพศ คือ การรักษาและขยายชาติพันธุ์มนุษย์ด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้น มนุษย์ก็จะเฝ้าแต่ดิ้นรนหาทางเพื่อไปสู่โมกษะแต่เพียงอย่างเดียว หรือเพียงแต่บำเพ็ญสมาธิเรื่อยเฉื่อยไปเปล่าๆ เมื่อการณ์เป็นดังนี้แล้ว โลกทั้งโลกก็จะดูเสมือนหนึ่งหยุดหมุน หรือหยุดนิ่งอยู่กับที่ จะไม่มีการสมรสรักษาวงศ์ตระกูลให้อยู่ยั่งยืนนาน จะไม่มีการใช้เวลาไปในการศึกษาวิชาการเพื่อแสงงหาความรู้หรือเพื่อความก้าวหน้า หรือแม้แต่ในการสร้าง การประดิษฐ์เครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ อีกต่อไป

อย่างไรก็ตามโดยธรรมชาติแล้ว คนเราย่อมมีปกติต้องคิดหรือต้องทำ ไม่สิ่งใดก็สิ่งหนึ่งอยู่เสมอ จะอยู่นิ่งๆ ย่อมไม่ได้ เพราะฉะนั้น คัมภีร์พระเวทจึงกล่าวว่า มนุษย์เราความปฏิบัติตนตามอรรถคติและกามคติ โดยถือหลักธรรมชาติ ทั้งนี้ ก็เพื่อน้อมนำตนให้เข้าสู่โมกษคตินั่นเอง เพราะคัมภีร์พระเวทสอนไว้ว่า มนุษย์เราควรจะแสวงหาทรัพย์สมบัติโดยมีหลักธรรม และทรัพย์สมบัติที่หามาได้แล้วโดยหลักธรรมนั้น ก็พึงนำไปใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างมีหลักธรรมด้วยจึงจะชอบ

ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูในดินแดนสุวรรณภูมิ

ก .สมัยก่อนรัตนโกสินทร์

ศาสนาพราหมณ์ได้เข้าสู่ดินแดนสุวรรณภูมิก่อนสมัยทวารวดี แต่ไม่สามารถหาหลักฐานได้ว่าเมื่อใด แม้แต่คัมภีร์ชาดกในพระพุทธศาสนา เช่น มหาชนกชาดก สังขพราหมณ์ชาดก สุสันธีชาดก เป็นต้น และคัมภีร์รามายณะก็กล่าวถึงดินแดนสุวรรณภูมิ และสุวรรณทวีปไว้ เท่าที่หาหลักฐานได้ เมื่อ พ.ศ. ๓๐๓ คณาจารย์พราหมณ์ ที่ติดตาม พระโสณเถระกับพระอุตรเถระศาสนาทูต ของพระเจ้าอโศกมหาราช เข้ามายังสุวรรณภูมิ จุดแรกที่พระเถระทั้งสองมาประดิษฐานพระศาสนา คือ นครปฐม ตอนนี้ก็นับเป็นยุคแรก ๆ ของพราหมณ์ในประเทศไทยเช่นเดียวกันดังประจักษ์พยาน ในการเผยแผ่ศาสนาพราหมณ์ คือ ปฏิมากรรมในพระพุทธศาสนา เช่น เทวรูป เทวาลัย พบที่จังหวัด นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรีและที่ตำบลพงตึก จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น

โบราณวัตถุของพราหมณ์ดังกล่าวนี้ มักจะพบคู่กับปฏิมากรรมในพระพุทธศาสนา เช่น พบพระพุทธรูป พระเจดีย์ หรือ พระปรางค์ ณ ที่ใดก็มักจะพบเทวรูป และศาสนาของพราหมณ์พร้อมกับวัตถุทางศาสนา เช่น เสาชิงช้า เป็นต้น ณ ที่นั้นด้วยเสมอ

ที่เป็นดังนี้เพราะ ศาสนาพราหมณ์ได้แพร่ออกจากอินเดียพร้อม ๆ กับการเดินทางของพระอรหันต์สมณฑูต ๒ รูป ดังกล่าว ยุคนี้ ศาสนาพราหมณ์แพร่มาทางพระพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นพระพุทธศาสนาลัทธิหินยานหรือเถรวาท หลังจากการทำตติยสังคายนาในประเทศอินเดีย

ราวพุทธศักราช ๑๘๐๐ พระพุทธศาสนาลัทธลังกาวงศ์ ได้แพร่มาจากอินเดียมาสู่ประเทศไทย ตั้งมั่นที่กรุงสุโขทัย กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง ทรงเอาพระทัยใส่ทะนุบำรุงมาก ในขณะเดียวกัน ก็ทรงเอาธุระในศาสนาพราหมณ์ด้วย ในราชสำนักมีพราหมณ์ พระศรีมโหสถพระมหาราชครูเป็นปุโรหิต ถวายความรู้วิทยาการนักรบ และวิทยาการของกษัตริย์ มีการประกอบพิธีกรรมตามพระเวท อันสืบเนื่องมาเป็นพระราชพิธี จนปัจจุบัน ดังที่รู้เห็นและทราบ ๆ กันอยู่แล้ว

บรรดาพิธีกรรม ที่เกี่ยวกับการเบียดเบียนชีวิตมนุษย์และสัตว์ ที่เรียกว่ายัญกรรมนั้น คณาจารย์พราหมณ์ในประเทศไทยได้เลิกหมดสิ้น เข้าใจว่าเป็นเพราะสังคมไม่นิยม หรือขัดความรู้สึกพื้นฐานของสังคมชาวพุทธ คงเหลือแต่การประกอบพิธีสาธยายพระเวท สร้างมงคลล้างอัปมงคลดำเนินงานศาสนาคู่กันไปกับพระพุทธศาสนา อีกทั้งคณาจารย์พราหมณ์ ได้เป็นอุบาสกทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา เจริญรอยตามพระยุคลบาทพระราชาธิบดีของประเทศไทยตั้งแต่โบราณกาลนั้นด้วยเหตุนี้เอง คำว่า “พุทธกับไสยอิงอาศัยกัน” จึงเกิดมีขึ้น ปัจจุบันนี้พิธีกรรมพราหมณ์บางอย่างก็มีพุทธเจือปน เช่น มีพระสงฆ์สวดมนต์ท้ายพระราชพิธีตรียัมพวาย – ตรีปวาย เป็นต้นเรื่องของพุทธก็มีพิธีพราหมณ์แทรก เช่น การเดินประทักษิณรอบวัตถุสถานมงคล การจุณเจิมลูกนิมิต การรดน้ำสังข์ให้เจ้านาค การเบิกพระเนตรพระพุทธปฏิมา เป็นต้น

ในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ตามลัทธิลังกาวงศ์จึงนับว่า เป็นยุคที่สองของพราหมณ์ในประเทศไทย ยุคนี้ห่างจากยุคแรก ถึง ๑๕๐๐ ปีเศษ ได้ปรากฏปูชนียวัตถุ ในศาสนาพราหมณ์หลายแห่ง ที่ขุดพบในอาณาจักรสุโขทัย รวมทั้งจารึกพระเวทในศาสนาพราหมณ์อีกเป็นจำนวนมากด้วย

พราหมณ์ในประเทศไทยนี้ อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นพราหมณ์สมัยพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้ว่า ที่ตั้งของศาสนพิธีของพราหมณ์ก็ดี ของพุทธก็ดี ที่ได้สำรวจพบในประเทศไทย มักจะมีวัตถุเทวรูป ปฏิมากรรม อยู่ในสถานที่ตำบลเดียวกันเสมอ

เริ่มแรกที่ได้แพร่เข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมินี้ ประมาณ พ.ศ. ๓๐๓ คือ เป็นสมัยที่เกี่ยวข้องกับพระโสณะเถระ และพระอุตตระเถระ เป็นศาสนฑูตของ พระเจ้าอโศกมหาราช นั่นเอง และย่อมเป็นของแน่นอนว่า พราหมณ์ปุโรหิตที่ได้เข้ามาในสมัยเดียวกันนั่นเอง ได้เริ่มสอนวิชาการต่าง ๆ อันเป็นอาถรรพเวทและอุปเวท ควบคู่กันไปกับการสอนพระพุทธศาสนา เราจึงพบว่าพุทธกับไสยได้ดีเกลียวเป็นเชือกเส้นเดียวกัน คณาจารย์สายแรกที่มา ตั้งอยู่ ณ นครปฐม ได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ระยะหนึ่ง แล้วจึงเดินทางไปทางใต้ สู่ราชบุรี เพชรบุรี ไชยา จนถึงนครศรีธรรมราช พัทลุง ระหว่างทางนี้ได้สร้างโบสถ์ วิหาร ของพระพุทธศาสนาและของพราหมณ์ มาตลอดรายทาง ดังจะพบเห็นปูชนียวัตถุทั้งสองอย่างนี้พร้อมกันไปดังกล่าวแล้ว

สายที่สอง ที่เข้าสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ เดินทางอ้อมมาจากหมู่เกาะชวา ขึ้นที่ประเทศจามราว ๆ ญวนใต้หรือเขมร แล้วแผ่อิทธิพลเข้าไปสู่อาณาจักรขอม ในตอนนี้เป็นที่น่าสนใจว่ากษัตริย์ที่ปกครองเขมร มีนามว่า องค์สริยวรมัน อีกพระองค์มีนามว่า โกณฑัญญะ (พราหมณ์) ภายหลังเมื่อได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแห่งขอมแล้ว ก็ได้สถาปนาเป็นราชวงศ์ขึ้นใหม่ ชื่อว่า สุริยวรมัน วงศ์นี้ได้นำความเจริญมาสู่ขอมอย่างมากมาย ทั้งทางวัตถุและศาสนา เป็นความเจริญรุ่งเรืองทั้งศาสนาและอาณาจักร มีวัตถุโบราณอันเป็นศิลปวัตถุของสมัยนี้ปรากฏอยู่มาก ทั้งในดินแดนเขมรและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

อย่างไรก็ตาม การเดินทางจากอินเดียเข้าสู่สุวรรณภูมิ ก็ได้เกิดขึ้นหลายยุคหลายสมัยตามหลักฐานที่ได้จดหมายเหตุไว้มีปรากฏ เมื่อครั้ง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช พระนารายณ์รามาธิบดีแห่งรามนคร (พาราณสี) ในอินเดียเป็นผู้เรืองอำนาจมาก เหล่าทหารเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ เหาะเหินเดินอากาศได้ ครั้งหนึ่งมีพ่อค้าชาวรามนครคนหนึ่ง นำสิ่งของบรรทุกเรือเข้ามาขายที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อขายเสร็จแล้วก็จัดซื้อสิ่งของบรรดามีในกรุงศรีอยุธยา เมื่อขายเสร็จแล้วก็จัดซื้อสิ่งของบรรดามีในกรุงศรีอยุธยา บรรทุกเรือกลับไปยังรามนคร ครั้นแล้วก็ได้นำสิ่งของต่าง ๆ เข้าเฝ้าถวายต่อเจ้าเมืองรามนคร อันมีพระนามว่าพระนารายณ์รามาธิบดี แล้วได้กราบบังคมทูลเรื่องราว ที่ได้เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาว่า เจ้าเมืองแห่งนครนั้นก็ทรงพระนามว่าพระนารายณ์รามาธิบดีเหมือนกัน เมื่อเจ้าเมืองรามนครทรงทราบดังนั้น จึงสั่งให้จตุรทหาร เอาเครื่องจตุรภัณฑ์เข้ามายังพระนครศรีอยุธยา และรับสั่งว่าถ้าเป็นพระนารายณ์จริง ก็จะเห็นเป็นสี่กร ให้เอาเครื่องบรรณาการนั้นถวาย แต่ถ้าเป็นคนธรรมดาแล้วให้ตัดศรีษะเสีย ทหารทั้งสี่แสดงอิทธิฤทธิ์เหาะมาทางอากาศเข้าสู่พระราชมณเฑียรของพระนารายณ์รามาธิบดีแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อได้เข้าไปในห้องบรรทม ก็ได้เห็นพระนารายณ์รามาธิบดีบรรทมอยู่ และมีสี่พระกรด้วยกัน ด้วยอานุภาพอันอัศจรรย์ ทหารทั้งสี่ถึงกับตะลึง มีอาการงงงันพูดไม่ออกดุจคนใบ้ ครั้นพระนารายณ์ตื่นบรรทมเห็นเข้าจึงทรงถามดูเมื่อได้ทราบความจริงแล้วก็ทรงโสมนัสยินดี ที่จะเป็นไมตรีกับพระนารายณ์เมืองรามนคร ทรงมีรับสั่งให้จัดเครื่องบรรณาการ ให้ทหารทั้งสี่กลับไปถวายตอบแทน ทหารทั้งสี่กลับไปยังรามนคร ให้พระนารายณ์แห่งรามนครทรงทราบความจริง พระองค์จึงรับสั่งให้นำเทวรูปพระนารายณ์ พระลักษมี พระมเหศวรี บรมหงส์ และ ชิงช้าทองแดง ให้ราชทูตนำลงเรือมาถวายยังกรุงศรีอยุธยาในระหว่างทางเรือได้ถูกพายุพัดพา เข้ามายังปากน้ำเมืองตรัง ข่าวทราบถึงเมืองนครศรีธรรมราชเจ้าเมืองนั้น พร้อมด้วยบริวาร พากันไปรับเทวรูปทั้งหมด มาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช แล้วแจ้งข่าวไปยัง พระนารายณ์แห่งพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี ทรงโปรดให้มารับเทวรูปโดยทางเรือ ขณะนั้นบังเกิดอัศจรรย์มีลมพายุพัดมาเป็นเมฆหมอกมืดอยู่ ๗ วัน ๗ คืน เทวรูปพระนารายณ์ก็เข้านิมิต ให้เจ้าพระยาโกษาธิบดีทราบว่า พระองค์ต้องการอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช เพราะมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ที่หาดทรายแก้ว บรรดาข้าราชการบริพารทั้งหลาย จึงต้องนำเทวรูปกลับมาไว้ยังเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิม ข้าราชบริหารทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นยังพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์ จึงได้มีพระบรมราชโองการ ให้เจ้านครหาที่ให้เหมาะสมเพื่อประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ไว้ ณ เมืองนครนั้น เจ้านครพร้อมด้วยออกทหารกรมการเมือง

หน้าที่ : 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7