“พระราชพิธีไล่เรือนั้นเป็นพิธีข้างจะให้น้ำลดเร็ว ๆ คือถึงเดือนอ้ายแล้วน้ำยังมากไม่ลด เมล็ดข้าวในรวงแก่ หล่นร่วงลงเสียในน้ำ ถึงโดยว่าจะค้างอยู่ก็เป็นข้าวเมล็ดหักละเอียดไป เพราะเกี่ยวไม่ได้ด้วยน้ำมาก”

พระราชพิธีไล่เรือนี้มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในการประกอบพระราชพิธีนี้  พระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนข้าราชบริพารจะแต่งกายเต็มยศแบบโบราณลงเรือพระที่นั่ง ครั้นถึงที่กำหนดไว้พระเจ้าแผ่นดินจะทรงโบกพัชนี (พัด) เพื่อไล่น้ำ พระราชพิธีนี้จะทำเมื่อมีปัญหาน้ำไม่ลด ต้องอาศัยบุญบารมีพระพุทธเจ้าและเทพเจ้า โดยพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ทรงอธิฐานจิต ในการพระราชพิธีเป็นการปฏิบัติเฉพาะพระมหากษัตริย์ ถ้าปีใดน้ำไม่มากก็ไม่ได้ประกอบพระราชพิธี

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้กระทำพระราชพิธีนี้ ๒ ครั้ง คือรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และไม่ได้เรียกว่าพิธีไล่เรือ แต่เรียกว่าพิธีไล่น้ำ

โดยพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จไปประชุมประกอบพระราชพิธีที่วัดท้ายเมือง แขวงเมืองนนทบุรี มีอาลักษณ์หรือราชบัณฑิตอ่านคำประกาศพระราชพิธีตั้งสัตยาธิษฐาน นมัสการพระรัตนตรัย เทพยดาและพระเจ้าแผ่นดิน ในอดีตซึ่งนับเป็นสมมติเทพยดา แล้วอ้างความสัตย์ ที่ได้มีความนับถือเทพยดาทั้งสาม คือ วิสุทธิเทพยดา อุปปาติกเทพยดา สมมติเทพยดา ขอให้น้ำลดถอยลงไปตามปกติธรรมชาติ พระพุทธรูปในพระราชพิธีนี้ คือ พระชัย พระคันธารราษฎร์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ อัญเชิญพระห้ามสมุทร เข้ากระบวนแห่ในพระราชพิธีนี้ คล้ายกระบวนเสด็จพระราชดำเนินพระกฐิน

จวบจนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้มีพระราชพิธีไล่น้ำนี้จนถึงทุกวันนี้

..............................................
พระราชพิธีสิบสองเดือน
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว